สวนสไตล์ญี่ปุ่น 5
บ้านเดี่ยว

สวนสไตล์ญี่ปุ่น

สวนสไตล์ญี่ปุ่น

สวนสไตล์ญี่ปุ่น 1

สวนสไตล์ญี่ปุ่น นอกจากฝันที่อยากมีสวนสวย ๆ ในบ้านแล้ว การมีบ้านตากอากาศหรือบ้านพักต่างจังหวัดน่าจะเป็นอีกหนึ่งฝันที่หลายครอบครัวปรารถนา ครั้งนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านไปชมบ้านตากอากาศหลังสวยในบรรยากาศชนบทที่สงบเรียบง่ายริมแม่น้ำนครนายก ทั้งยังโอบล้อมด้วยสวนสวย ๆ ในแบบสวนลูกครึ่งญี่ปุ่น-ยุโรปอีกด้วยครับ

“ผมได้รับการติดต่อให้เข้ามาออกแบบสวนนี้เมื่อกลางปีที่แล้วครับ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3 ไร่ เป็นป่าหญ้าทั้งหมด มีต้นไม้ใหญ่อยู่หลายต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ผล มีทั้งมะม่วง มะปราง และขนุน ในตอนนั้นกำลังสร้างบ้านญี่ปุ่นสไตล์ชนบทที่ดูเรียบง่ายอยู่ เจ้าของบ้านอยากได้สวนที่มีต้นไม้ฟู ๆ เยอะ ๆ ดูเป็นธรรมชาติ เลยสรุปลงตัวกันที่สวนอังกฤษ ซึ่งผมถนัดและสวนญี่ปุ่นที่เข้ากับตัวบ้านและเป็นสไตล์ที่เจ้าของบ้านอยากได้ครับ” คุณศักดิ์ เรืองพร้อม เล่าถึงโจทย์ที่ได้รับและจุดเริ่มต้นของสวนสองสไตล์แห่งนี้ให้เราฟัง

“เนื่องจากบ้านหลังนี้ใช้เป็นบ้านพักตากอากาศสำหรับเขียนหนังสือ ผมจึงตั้งใจออกแบบสวนญี่ปุ่นที่ดูนิ่งสงบเพื่อช่วยให้เกิดสมาธิ ใช้โทนสีเขียวเป็นหลัก เราไม่ควรใช้สีสันเยอะ ใช้แต่สีเขียวที่มองได้เรื่อย ๆ อยู่ได้นาน ๆ เล่นที่เฉดสีและฟอร์มต้นไม้ ภาพรวมจะเป็นสวนชื้นที่มีมอสส์

เลือกใช้ต้นไม้ที่ใช้ในสวนญี่ปุ่น เช่น ไผ่ สน ส่วนต้นไม้ที่หาได้ยาก ดูแลยาก หรือไม่เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา เราก็เลือกต้นอื่นมาใช้แทน เช่น พุด โดยเลือกต้นที่แตกกิ่งฟอร์มสวยสะดุดตาแทนบอนไซ นอกจากนั้นก็มีเฟิน ไฮเดรนเยีย หญ้าถอดปล้อง ซึ่งจริงๆ แล้วก็เหมาะสำหรับสวนญี่ปุ่นครับ ผมเป็นคนที่ลงลึกเรื่องต้นไม้พอสมควร อะไรที่ไม่มีก็ต้องหาให้ได้ เพื่อให้สวนมีเรื่องราว มีดีเทลให้มากที่สุด

“สวนญี่ปุ่นในแบบของผมคือการศึกษาข้อมูลแล้วนำจุดเด่นหลัก ๆ มาใช้ ประยุกต์ต่อยอดการออกแบบไปบ้าง ไม่ใช่สวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเสียทีเดียว ใส่ความทันสมัย ใส่แนวคิดที่แปลกแยกแตกแถวออกไปบ้าง คนที่เสพงานเราจะได้รู้สึกแตกต่าง เลือกใช้วัสดุที่ต่างออกไป หรือเป็นวัสดุที่หาง่าย นำมาประยุกต์ใช้ ให้คนที่ดูงานเราสามารถนำไปทำตามได้ สร้างแนวคิดนำไปต่อยอดได้ครับ

“บริเวณหลังบ้านก็ยังคงเป็นสวนญี่ปุ่นครับ แต่มีความเป็นสวนเซนที่ดูนิ่ง ๆ ใส่พรรณไม้ลงไปไม่มาก นั่งจิบชากาแฟในตอนเช้ามองเห็นบรรยากาศริมน้ำที่ดูโล่งสบายตา เป็นสวนที่ดูแลง่าย มีรั้วไม้ไผ่ขึงเชือกแบบสวนญี่ปุ่น พื้นทางเดินปูด้วยแผ่นหินแต่ปรับทางเดินเป็นเส้นตรง ใช้เส้นสายที่ดูโมเดิร์นขึ้น เลือกใช้กรวดมาโรยพื้นเกือบทั้งหมด เพราะเป็นวัสดุที่ใช้ได้ทั้งสวนญี่ปุ่นและสวนอังกฤษ ปลูกไม้ดอกเพิ่มเพื่อเชื่อมไปยังสวนอังกฤษที่อยู่ในโซนถัดไป”

เนื้อที่สวนกว่า 2 ไร่ นอกจากสวนญี่ปุ่นที่อยู่รอบบ้านแล้ว พื้นที่สวนที่เหลือเป็นสวนยุโรปที่มีกลิ่นอายผสมผสานทั้งสไตล์ทัสกานีและโปรวองซ์ รวมไปถึงแปลงผักสวนครัวริมน้ำที่เรียกได้ว่าเป็นสวนครัวที่มีดีไซน์ ใส่ลูกเล่น เป็นสวนครัวที่ทั้งสวยทั้งมีประโยชน์ต่างไปจากที่เคยเห็นมา

“ในส่วนของสวนอังกฤษตั้งใจให้หลบไปอีกด้านแยกห่างจากบ้านญี่ปุ่นไปเลย ไม่งั้นก็จะดูขัดตาครับ สวนอังกฤษที่นี่ออกแบบผสมผสาน ดึงจุดเด่นของสวนในยุโรปมาใช้เพื่อให้ดูแตกต่างไปจากสวนสไตล์อังกฤษที่เคยทำ ด้วยพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินลาดชันลงไปบริเวณริมน้ำ ผมถมดินเพิ่มและปรับพื้นที่ให้เป็นขั้นบันได

ทำเป็นสวนบนเนินสไตล์โปรวองซ์ของฝรั่งเศส เพิ่มดีไซน์ทางเดินและเลือกใช้วัสดุและโทนสีที่เป็นธรรมชาติของสวนสไตล์ทัสกานีของอิตาลี จุดเด่นของสวนนี้คือพรรณไม้ที่หลากหลาย ที่นี่เราลงต้นไม้หลายร้อยต้น หลากหลายชนิดมากนะครับ ปลูกแบบเหมือนไม่ตั้งใจปลูก จัดสวนยุโรปด้วยไม้ไทย

สวนสไตล์ญี่ปุ่น 2

ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างยาก แต่จะช่วยให้สวนดูมีมิติ ไม้ดอกที่เลือกปลูกจะมีทั้งไม้ดอกล้มลุกและไม้ดอกอายุหลายปี พวกไม้ดอกล้มลุกเราจำเป็นต้องใช้เพราะมีให้เลือกหลายชนิด ออกดอกดก ดอกมีสีสันที่หลากหลาย ช่วยให้สวนดูละมุนและมีเสน่ห์ ต้นโทรมก็เปลี่ยนต้นใหม่ เป็นกิจกรรมในครอบครัวได้

เลือกใช้ไม้ดอกสีโทนเย็นที่ดูสบายตา เช่น ขาว ชมพู ฟ้า ม่วง ไม่ใช้สีเดียวกันทั้งหมดเยอะ ๆ ซึ่งจะทำให้ดูน่าเบื่อ ไม่ใช้สีสด เช่น เหลือง ส้ม แดง เพราะจะดูจัดจ้าเกินไป อาจใช้ได้บ้างนิดหน่อยเพื่อสร้างจุดเด่น เพิ่มความน่าสนใจ แต่ก็ควรเป็นพรรณไม้ที่เข้ากับสไตล์สวน เช่น กุหลาบ พยายามใช้ต้นไม้ที่ใบมีขนาดเล็ก ซึ่งจะดูละมุนกว่า

 “สวนผักริมน้ำเป็นไอเดียของผมเลย ซึ่งเจ้าของบ้านเห็นแล้วชอบมาก ผักที่ปลูกมีทั้งผักพื้นบ้านและผักต่างประเทศ เน้นเรื่องของดีไซน์ทั้งแปลงปลูก วัดุที่ใช้ มีของตกแต่งแบบฝรั่งมาจัดวาง พวกม้านั่ง บ้านนก แต่ก็นำวัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่

มาใช้ร่วมด้วย อยากให้รู้สึกว่าเป็นบ้านพักตากอากาศที่มีแปลงผักที่สวย ดูแล้วสบายตาสบายใจ เข้ากับภาพรวมของสวนทั้งหมด แปลงผักริมน้ำเป็นวิถีธรรมชาติในบ้านเราที่ไม่ค่อยเห็น ทำให้พิเศษต่างไปหน่อยก็ตรงที่เป็นแปลงผักที่มีลูกเล่น ปลูกโชว์ก็ได้ ปลูกชิมก็ได้ครับ

“10 ปีที่ผมมีโอกาสได้ทำงานรับออกแบบจัดสวน ก็พยายามสร้างสรรค์ผลงานในหลาย ๆ สไตล์ งานจะมีดีเทลที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ผมมองว่าการจัดสวนเราไม่จำเป็นต้องตามตำราเสมอไป ผมจะทำสวนทุกที่ให้ต่างกันแม้ว่าจะเป็นสไตล์เดียวกันครับ และในงานเดียวก็อาจมีหลายสไตล์ปนกัน ฉีกแนวไปจากเดิม ๆ อย่างเช่นสวนนี้ถือว่าเป็นความท้าทาย ได้คิดสร้างไอเดียใหม่ ๆ ตลอดเวลา”

สวนสไตล์ญี่ปุ่น 3

ไอเดียจัดสวน Zen

“ความสุขที่ปลูกได้” คงเป็นวลีที่ช่วยอธิบายภาพสวนนี้ได้ดีที่สุด สวนญี่ปุ่นที่ชวนให้ร้องว้าวนี้เป็นฝีมือของ คุณภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล สมาชิกกลุ่ม  “บ้านไอเดีย” ที่หลงใหลในการจัดสวนเป็นชีวิตจิตใจ จากการได้พูดคุยและชมภาพ ทำให้เห็นพลังงานของความรักสวนที่พรั่งพรูออกมาราวกับสายน้ำ

และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการทำสวนในบ้านหลังนี้ ไม่ใช่เพียงการวางกระถางหรือปลูกต้นไม้ลงในที่ว่าง แต่เป็นการใส่จิตวิญญาณของตัวเองลงในในทุกมิติ  ในทุก ๆ องค์ประกอบของสวน หินทุกก้อน ต้นไม้ ใบหญ้า ผ่านการคิด คัด และค่อย ๆ ลงมือจนออกมาเป็นรูปร่างน่าประทับใจ 

เนื้อหานี้นอกจากจะมีภาพสวนมาเป็นแรงบันดาลใจแล้ว ยังมีเคล็ดลับในการจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่นที่เจ้าของสวนมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้แบบจัดเต็มทะลุจอไม่มีกั๊ก เพื่อให้ครอบครัวบ้านไอเดียที่ชื่นชอบสไตล์นี้มองเห็นภาพและจัดตามได้ง่ายๆ

สวนนี้ที่จัดด้วยหัวใจ

“สวนนี้เกิดจากความชอบในสวนญี่ปุ่นของผมและสมาชิกในบ้านครับ ด้วยความที่ผมกับแฟน เป็นศิษย์เก่าที่จบจากญี่ปุ่นด้วยกันทั้งคู่ เราจึงหลงใหลในศิลปะและวัฒนธรรม รวมไปถึงสวนญี่ปุ่นด้วยครับ ผมเลยหาโอกาสเวลาว่าง บินไปเรียนจัดสวนญี่ปุ่นกับอาจารย์นักจัดสวนที่ญี่ปุ่นมาครับ เพื่อมาจัดสวนญี่ปุ่นที่บ้านผมได้อย่างถูกต้อง และเข้าถึงความเป็นญี่ปุ่นจริงๆ ครับ” คุณภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล เริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของสวนสไตล์ญี่ปุ่น ที่บ้านไอเดียเห็นปุ๊บก็หลงรักปั๊บ

ยินดีต้อนรับการมาของผู้มาเยือนทุกท่านด้วยการจัดสวนตั้งแต่หน้าประตู ไล่เรียงเรื่อย ๆ เข้ามาถึงขอบทางข้างถนนที่นำเข้าสู่ตัวบ้านก็เต็มไปด้วยบรรยากาศความเขียวชอุ่มของเนินมอส หิน ต้นไม้เล็กใหญ่ ที่ทำให้หัวใจพองโตไปกับการทักทายจากธรรมชาติที่เจ้าของบ้านบรรจงสร้างสรรค์ขึ้น

ทางเดินที่ลงมือจัดหินเองทุกก้อน

ทางเดินที่เรียงรายไปด้วยแผ่นหินนำสายตาเข้าสู่สวนที่สวยงามแบบนี้ มองเผิน ๆ เหมือนวางแบบไม่ตั้งใจ แต่จริง ๆ แล้วกระบวนการจัดเรียงหินทุกก้อน ต้องผ่านปรับแต่งหินอย่างพิถีพิถันและคิดมาอย่างดี ก่อนที่จะค่อย ๆ นำมาร้อยเรียงให้เป็นแถวเป็นแนว กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ต้องเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงจากญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความประณีตในทุกศาสตร์งานช่างฝีมือ คุณภูริวัจน์ทำการเรียนแบบตัวต่อตัว พักกินอยู่กับนักจัดสวนญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว

“ส่วนนี้ผมเลือกใช้หินทางเดิน เป็นหินแกรนิตที่โทนสีสว่างหน่อยครับ วิธีการปูหินทางเดินแบบนี้เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า อะราเระโคะโบะชิ (あられこぼし) คือการ การปูหินทางเดิน โดยใช้หินเป็นก้อนๆ ที่ตัดแต่งให้มีหน้าตัดเรียบๆ วางเรียงกัน คล้ายๆ การต่อจิ๊กซอว์ ซึ่งไม่ได้ใช้ปูนในการยึดเกาะ แต่ใช้เทคนิคการปูแบบโบราณคือ การอัดดินเข้าและความหนาของก้อนหินในการยึดเกาะให้แน่นแทนครับ”

ให้ตะเกียงหินเป็นจุดโฟกัสสายตา

สวนสไตล์ญี่ปุ่น 4

คุณภูริวัจน์อธิบายแนวคิดในการจัดสวนให้ฟังในเบื้องต้นว่า “สวนแห่งนี้ ผมจะเน้นจุดโฟกัสสายตาไปที่ตะเกียงหินต่าง ๆ ที่ผมวางไว้เป็นจุดๆ ครับ และใช้แนวทางเดินเป็นเส้นนำสายตา เพื่อสร้างความน่าสนใจและเพิ่มความเป็นธรรมชาติ ภายในสวนครับ สำหรับการจัดวางพืชพันธุ์ไม้ที่ใช้จะมีไม้ใหญ่ เล็ก สูง ต่ำ สลับกันไปครับ”

ในบ้านนี้ไม่ได้จัดเป็นสวนขนาดใหญ่จุดเดียว แต่จะแบ่งจัดตามมุมเล็กมุมน้อยของบ้านกระจายไปทั่ว ๆ ซึ่งเป็นหนึ่ง Concept ที่ได้อิทธิพลมาจากการเรียนรู้เรื่องการทำสวนจากญี่ปุ่น

“มุมเล็กๆ ที่สามารถจัดเป็นสวนญี่ปุ่นได้จะเรียกว่า ทสึโบะนิวะ ครับ ซึ่งส่วนลักษณะนี้เราจะเจอหรือพบเห็นได้ตามบ้านของคนญี่ปุ่นทั่วไป โรงแรมต่างๆ หรือไม่ก็ตามร้านค้า ร้านอาหารในแถบเกียวโต สวนลักษณะนี้จะเน้นความเรียบง่าย ความโปร่งโล่งสบาย และจะโชว์จุดเด่นของสวนชาในสไตล์ญี่ปุ่น

ต้นไม้ที่เลือกใช้ตกแต่งสวนจะเป็นต้นไม้โตช้า และโทนสีที่เขียวสดใส เช่น สีเขียวของมอส และเฟินตระกูลต่างๆ สวนนี้ผมก็นำเข้าต้นไม้มาใช้บ้าง 2-3 ชนิดครับ เพื่อทดลองว่าจะอยู่ในสภาพอากาศแบบบ้านเราได้ไหม  เพราะว่านอกจากผมจะจัดสวนที่บ้านตัวเองแล้ว ผมยังรับจัดสวนญี่ปุ่นให้กับผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลในสวนญี่ปุ่นจริงๆ ด้วยครับ”

เขียวชอุ่มชุ่มชื่นกับไม้ใหญ่ มอส และบ่อปลา

สวนสไตล์ญี่ปุ่นที่เราเคยเห็นจะมักจะใช้ต้นไม้ขนาดกลาง ต้นบอนไซ พืชคลุมดิน และกรวดหรือทราย ที่ดูนิ่ง เรียบ สงบแบบเซน แต่สวนให้ความรู้สึกที่แตกต่างที่ความร่มรื่นและชุ่มชื้นมากกว่า

“ภายในสวนจัดองค์ประกอบด้วยการวางหินสลับกับต้นไม้ในระดับสายตา แล้วเลือกตำแหน่งวางตะเกียงหินให้ถูกพรางด้วยต้นไม้นิดๆ หน่อยๆ เพิ่มความน่าสนใจ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของสวนญี่ปุ่นครับ สำหรับพันธุ์ไม้ที่ผมชอบนำมาใช้จะเป็นไม้ที่ ให้โทนสีเขียวเป็นหลักทั้งเขียวอ่อนและเขียวเข้ม

ไม้ดอกจะเลือกสีดอกไม่ฉูดฉาดหรือหลากหลายมากจนเกินไป อย่างเช่น ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นสนใบพาย ต้นชาปัตตาเวีย ต้นกุหลาบ ไทรใบด่าง ต้นพุดกุหลาบ ต้นไอริส เฟินต่างๆ อาทิ เฟินก้านดำ และเฟินธรรมชาติที่ขึ้นเองครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น

เนื่องจากผมเป็นคนที่ชอบไม้ใหญ่ให้ร่มเป็นการส่วนตัว ในสวนของผมก็จะปลูกไม้ใหญ่ด้วย โดยผมจะเลือกต้นไม้ที่นอกจากจะทำหน้าที่ให้ร่มแล้ว ยังมีฟอร์มเอียงลีลาคล้ายๆ ต้นไม้ที่ญี่ปุ่นอย่าง ต้นพยอม ต้นชุมแสง ต้นจิกน้ำ และต้นกำแพงเจ็ดชั้นครับ”

ในส่วนของการดูแลมอสท่ามกลางสภาวะอากาศร้อนจัดแต่กลับเขียวชอุ่ม คงทำให้หลาย ๆ คนสงสัยเหมือนกันว่า เจ้าของสวนมีเคล็ดลับดูแลอย่างไร ซึ่งคุณภูริวัจน์ อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า “ความชุ่มชื้นที่สม่ำเสมออย่างจำเป็นอย่างมากในการดูแลมอส

เราต้องพยายามคงความชื้นให้มอสเขียวแบบนี้ได้ตลอดทั้งปีครับ ที่สวนผมจะมีระบบน้ำเพื่อทำงานฉีดพ่นละอองน้ำเลี้ยงมอสในทุกๆ 2 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 นาทีแล้วแต่ฤดูกาลครับ

นอกจากนี้ต้นไม้ให้ร่มยังจำเป็นต่อการเลี้ยงมอสด้วย และเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เมื่อเราสร้างระบบนิเวศได้คงที่แล้ว เราจะสนุกกับการมองดูมอสสวยๆ เจริญงอกงามขึ้น ชื่นชมเฟินต่างๆ ที่แตกสปอร์กระจายไปทั่วสวน และอาจมีมอสที่แปลกใหม่เกิดขึ้นมาให้เราได้เห็นอีก มากมายเลยครับ”

“ในสวนผมมีบ่อปลาและน้ำตกด้วยครับ แต่บ่อปลาเกิดทำก่อนที่ผมจะไปเรียนจัดสวนที่ญี่ปุ่น ด้วยความชอบในการเลี้ยงปลาคาร์พ ทำให้อยากมีสวนญี่ปุ่นสวยๆ มาประดับบ่อปลาคาร์พของผมด้วยครับ ในบ่อนี้ผมมีปลาคาร์พที่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มทำบ่อใหม่ๆ จนถึงปัจจุบัน ตอนที่เริ่มเลี้ยงน่าจะขนาดลำตัวประมาณ 25 cm ครับ แต่ตอนนี้ขนาดอยู่ที่ประมาณเกือบ 80 cm แล้วครับ”

ปิดท้ายก่อนจากกัน เจ้าของสวนญี่ปุ่นที่ชวนหลงไหลนี้ ยังได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการแต่งสวนสไตล์ญี่ปุ่นให้คนชอบสวนเลือกจัดตามความสนใจว่า “จริงๆ แล้วส่วนญี่ปุ่นมีหลากหลายรูปแบบมากเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นสวนธรรมชาติ สวนชา สวนภูเขา และสวนที่ราบ หรือสวนคาเรซันซุย (สวนแห้ง สวนหินญี่ปุ่น หรือสวนเซ็น) ครับ

โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะเจอสวนลักษณะนี้ในวัดหรือศาลเจ้า แต่ถ้าเป็นสวนในบ้านพักอาศัยของคนญี่ปุ่นจริงๆ แล้วส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของสวนชา สวนภูเขา สวนธรรมชาติ และที่เรียกกันทั่วไปในญี่ปุ่นว่าสวนทสึโบะนิวะ ตามที่ผมอธิบายมาข้างต้นครับ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็สามารถจัดได้ในบ้านทั่วไปโดยไม่ผิดแปลกอะไรครับ”

สวนสไตล์ญี่ปุ่น 5