คุณรู้จักการก่อสร้างแบบ PREFAB ดีแค่ไหน
PREFAB ปัจจุบันรูปแบบการก่อสร้างล้ำ ๆ ไฮเทค ๆ เริ่มเข้ามาปฏิวัติวงการก่อสร้างไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเราและภูมิภาคอาเซียน เริ่มได้เห็นอาคารต้นแบบ อาคารประหยัดพลังงาน อาคารโครงสร้างฉลาด และสำเร็จรูป วิธีการแปลกใหม่ในการสร้างบ้านถูกนำมาเสนอขายเป็นแพ็คเกจง่าย ๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า การสร้างบ้านไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป
ลองทำความรู้จัก อีกมิติหนึ่งของการสร้างบ้านยุคใหม่กันชัด ๆ แล้วคุณจะรู้ว่าเทคโนโลยีทำให้ชีวิตเราง่าย และสะดวกสบายมากขึ้นจริง ๆ
PREFAB คืออะไร
PREFAB (พรีแฟบ) มาจาก Prefabricated Building หมายถึง วิธีการก่อสร้างบ้านหรืออาคารโดย “ผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นให้สำเร็จก่อนจะนำมาประกอบกันที่หน้างาน”
วิธีการแบบนี้เริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เป็นหัวขบวนนำระบบพรีแฟบ เข้ามาสร้างอาคาร และหมู่บ้านจัดสรร ด้วยวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อลดต้นทุนเวลาและแรงงานเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ แนวคิด PREFAB เริ่มจากปัญหาของค่าแรงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และการขาดแคลนแรงงานฝีมือที่ไหลออก จากภาคการก่อสร้างทำให้มาตรฐานและคุณภาพงานด้อยลง นักออกแบบจึงเริ่มคิดวิธีการก่อสร้างรูปแบบ PREFAB ขึ้นมาหลากหลายวิธี ขึ้นกับโจทย์ของผู้พัฒนาอสังหาฯ แต่ละราย และการก่อสร้างระบบ PREFAB ยังแบ่งออกเป็นลักษณะต่าง ๆ ได้อีกตามรูปแบบการประกอบและวัสดุ ดังนี้
1. Precast (พรีคาสท์)
ผนังสำเร็จรูป คือการเทหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กในแบบหล่อ แล้วยกเป็นผนังทีละชิ้นมาประกอบเป็นอาคาร โดยใช้ผนังเป็น “ผนังรับน้ำหนัก” (Loaded Bearing Walls) แทนระบบเสาคาน หรือบางรายเลือกใช้เป็นแค่เพียง “ส่วนผนัง” ร่วมกับระบบเสาคาน
2. Balloon Frame (ระบบโครงคร่าวรวม)
คือการใช้เหล็กรูปหรือไม้เนื้อแข็งประกอบกับเป็นโครงข้อแข็ง มีระบบ “ใช้โครงคร่าวเป็นตัวอาคาร” แล้วจึงติดไม้ฝาหรือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์เข้าไปทั้ง 2 ฝั่งเพื่อบังซ่อนโครงคร่าว ถ้าคิดภาพไม่ออกให้นึกถึงบ้านไทยในต่างจังหวัด ส่วนมากจะยิงปิดผิวแค่ด้านนอกเท่านั้น ส่วนด้านในจะโชว์โครงคร่าวเลย
3. Framing Walls (โครงคร่าวแยกเป็นผนังทีละผืน)
ลักษณะนี้ จะเป็นการใช้เหล็กรูปหรือไม้เนื้อแข็งประกอบกับเป็นโครงสร้างถัก (Truss) แล้วใส่แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์เข้าไปทั้ง 2 ฝั่งเพื่อบังซ่อนโครงคร่าว จนกลายเป็นผนัง 1 ผืน เมื่อไปหน้างานก็นำผนังแต่ละผืนมาประกอบเข้ากันเป็นห้องหรืออาคาร โดยใช้การเชื่อมต่อด้วยโลหะ
4. Modular (โมดูลาร์)
เป็นการสร้างอาคารโดยแยกสร้างเป็น “Module” หลาย ๆ ยูนิต อาจจะสร้างพร้อมตกแต่งเสร็จ 100% เลย แล้วจึงนำแต่ละยูนิตไปประกอบร่วมกันจนสมบูรณ์ หรือบางวิธีการก็จะสร้างเป็นเพียง “โครงข้อแข็งสมบูรณ์” ขึ้นมาทีละโมดูล จากนั้นนำมาประกอบร่วมกันเป็นโครงสร้างอาคารขนาดจริง แล้วจึงปิดผิว-ตกแต่งในภายหลัง
5. บ้านทรงไทย
เชื่อหรือไม่ว่าบ้านทรงไทยของเรานี้ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของ PREFABz ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูปขึ้นมาจากไม้ธรรมชาติให้เป็น เสา, จั่ว, คาน, ฝาบ้าน ฯลฯ แล้วนำมาประกอบกันโดยการขัดร่วมกับระบบลิ่ม อ้างถึงสำนวนไทยที่เราคุ้นเคยกัน “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” นั่นแปลว่าผลิต “จั่วและเสา” สำเร็จก่อนที่จะหามมาประกอบกันที่หน้างาน
เชื่อว่าเราได้ทำความรู้จักกับ Prefabricated หรือ PREFABz กันมากขึ้นแล้ว ระบบการก่อสร้างบ้านแบบทันสมัยไม่ได้มีเพียงแค่ PREFAB เท่านั้นนะครับ ในตอนต่อไป เราจะมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งรูปแบบของการสร้างบ้านที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนค่าแรง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่กำลังมองหาบ้านหลังใหม่ หรืออยากจะต่อเติมบ้านหลังเดิมให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น
Prefabricated Construction’ ก่อสร้างเสร็จ และสำเร็จ(รูป)ได้มากกว่า
‘Prefabricated Construction’ หรือ ‘การก่อสร้างสำเร็จรูป’ (ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Prefabz) เป็นวิธีการก่อสร้างที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น จากกระบวนการที่ใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในโรงงาน จากนั้นจึงขนส่งวัสดุและชิ้นส่วน เพื่อมาประกอบที่หน้าไซต์งาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่คล่องตัว ควบคุมคุณภาพได้ดี และช่วยลดถอนความไม่จำเป็นต่างๆ ในงานก่อสร้าง นับว่าเป็นวิธีการปฏิวัติอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เพื่อแสดงออกถึงศักยภาพของวัสดุ เทคโนโลยี นวัตกรรมและความยั่งยืนทางสถาปัตยกรรม
โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา กระบวนการก่อสร้างลักษณะนี้ ได้สร้างองค์ประกอบอาคารที่ซับซ้อนได้มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดข้อจำกัดของการก่อสร้าง(ในไซด์งาน)แบบดั้งเดิม ทำให้มีความแม่นยำ ลดการสูญเสียวัสดุที่ไม่จำเป็น และกำหนดระยะเวลาโครงการได้ชัดเจน ช่วยให้สถาปนิกได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการกำหนดรูปแบบและการใช้งาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีรายละเอียด มีประสิทธิภาพ และมีความประณีตมากกว่าเดิม
จุดเริ่มต้นของการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป
การก่อสร้างสำเร็จรูปเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในศตวรรษที่ 19 ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งการถือกำเนิดของอุตสาหกรรมนำมาซึ่งความก้าวหน้าในเทคนิคการผลิตและวัสดุก่อสร้าง ที่ทำให้สามารถผลิตชิ้นส่วนอาคารจำนวนมากได้ เช่น ประตู หน้าต่าง และส่วนประกอบโครงสร้าง ที่ผลิตไว้ล่วงหน้าแล้วนำมาประกอบที่หน้าไซต์งานได้เลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อาคาร ‘The Crystal Palace’ ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับการจัดนิทรรศการในกรุงลอนดอน ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นเหล็กและกระจกสำเร็จรูป ซึ่งนำมาประกอบที่หน้างาน จนถึงช่วงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ให้ก่อสร้างได้รวดเร็วและราคาย่อมเยา วิธีการก่อสร้างสำเร็จรูปจึงได้รับความนิยมในช่วงเวลานี้ โดยรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ก็ให้การสนับสนุน โดยการนำส่วนประกอบของอาคารมาสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับทหารที่กลับมาจากสงครามและประชากรที่เพิ่มขึ้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ